วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ลาออกจากงานทั้งทีต้องทำอย่างมืออาชีพ

ลาออกจากงานทั้งทีต้องทำอย่างมืออาชีพ


การลาออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของคนทำงาน คุณอาจไม่มีความสุขในการทำงาน หรือต้องการออกไปหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต คำแนะนำก็คืออย่าทำลายสายสัมพันธ์เก่า ๆ ที่คุณเคยมี และหากคุณได้ร่างจดหมายลาออกไว้แล้ว ขอให้คุณอ่านบทความนี้ให้จบก่อนที่คุณจะส่งจดหมายลาออกฉบับนั้นแก่เจ้านายของคุณ

ลาออกจากงานทั้งทีต้องทำอย่างมืออาชีพ


ชั่งน้ำหนักให้ดี
ขั้นตอนแรกที่จะทำให้การลาออกของคุณนั้นราบรื่นก็คือ คุณต้องชั่งน้ำหนักว่า การลาออกจากบริษัทนั้นเป็นตัวเลือกที่คุณต้องการจริง ๆ หรือไม่ คุณจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อไม่ได้ทำงานหรือเปล่า หากคุณยังมีภาพความประทับใจและความทรงจำที่ดีกับบริษัทอยู่อย่างมากมาย คุณควรระงับการยื่นใบลาออกไว้ก่อน เพราะว่าจริง ๆ แล้วคุณยังไม่ได้อยากลาออกเสียหน่อย

ร่างจดหมายลาออก
ระหว่างที่คุณเขียนจดหมายลาออก คุณจะต้องรวบรวมเหตุผลในการลาออกของคุณ แม้ว่าจะรู้สึกอัดอั้นตันใจอยากจะระบายออกมา แต่อย่าลืมว่าควรควบคุมอารมณ์และความรู้สึก คงความเป็นมืออาชีพเอาไว้ โดยการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา อย่าพูดเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมากจนเกินไป ให้โฟกัสที่แผนการในอนาคตและอธิบายว่าการตัดสินใจของคุณจะนำคุณไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร

การเขียนจดหมายลาออกก็คล้าย ๆ กับการเขียนเรซูเม่ ควรอ่านและแก้ไขหลาย ๆ รอบจนมั่นใจ อย่าให้มีข้อความหรือถ้อยคำที่ทำให้ไม่สบายใจ และเมื่อคุณจะส่งควรพริ้นท์ลงกระดาษส่งถึงมือนายจ้างดีกว่าที่จะส่งทางอีเมล

คุยกับนายจ้างให้เข้าใจ
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะไม่เป็นการทำลายสายสัมพันธ์ที่คุณและบริษัทมีต่อกันคือการเผชิญหน้า พูดคุยกับนายจ้างให้เข้าใจก่อนที่คุณจะออกจากงาน หากนายจ้างรั้งให้คุณอยู่ต่อ ควรปฏิเสธอย่างนุ่มนวล เพื่อให้คุณออกไปพร้อมกับได้รับการอ้างอิงที่ดีในอนาคต อย่าลืมว่าโลกธุรกิจไม่ได้กว้างขวางอะไร การจากกันด้วยดีย่อมเป็นผลดีต่อการทำงานของคุณในระยะยาวมากกว่า

เมื่อคุณสามารถผ่านพ้นขั้นตอนที่ยากลำบายทั้งสามขั้นตอนได้แล้ว คุณก็พร้อมที่จะก้าวต่อไปพบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับประวัติเสียใด ๆ จากนายจ้างเก่าของคุณ เพราะคุณได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนอย่างมืออาชีพแล้วนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก jobsdb.com