โรคหัวใจ ที่มักเกิดกับวัยทำงาน |
คำว่าโรคหัวใจมีความหมายกว้าง และมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป สำหรับโรคหัวใจ ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยกลางคนได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เนื่องจากในปัจจุบันการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป คือ ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ และมีโภชนาการแย่ลง ประกอบกับการออกกำลังกายน้อย อันเป็นสาเหตุทำให้อัตราการเกิดโรคสูงขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจจะละเลยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น มักคิดว่าตนเองยังแข็งแรงอยู่ ซึ่งกว่าจะมาพบแพทย์ ก็มีอาการของโรคที่รุนแรง และเสี่ยงต่อโรคร้ายไปแล้ว สำหรับทั่วโลก ประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 4 หรือ 1,000 ล้านคน ป่วยเป็นโรคนี้ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 7 ล้านคน
โรคหัวใจ ที่มักเกิดกับวัยทำงาน
อาการของโรคเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย การออกแรง หรือภาวะเครียด เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก ใจสั่น วูบหมดสติ น้ำท่วมปอด เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้ และปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้
การสูบบุหรี่
โรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
โรคอ้วน และการขาดการออกกำลังกาย
ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
เพศและอายุ เพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป หรือหญิงหลังหมดประจำเดือน
ประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้อย่างไรบ้าง
สามารถตรวจวินิจฉัยโดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน หากตรวจในเบื้องต้นยังไม่แน่ชัด แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan 64-slice) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสามารถตรวจดูหินปูนที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจ และหาตำแหน่งพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้ายด้วยการสวนหัวใจ
วิธีการรักษาโรค
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมี 3 แนวทางใหญ่ๆ ในเบื้องต้นแพทย์มักพิจารณาให้การรักษาโดยการรับประทานยา แต่ในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจร่วมกับการใส่ขดลวด หรืออาจรักษาโดยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำบายพาสหัวใจ
เรามีวิธีป้องกันด้วยวิธีใดบ้าง
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง
การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายเป็นประจำ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30-40 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน
หยุดสูบบุหรี่
ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
หมั่นตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น และอย่ามองข้ามอาการเล็กน้อย ควรตรวจหาสาเหตุของโรคแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การรักษาและป้องกัน มากกว่าที่จะปล่อยให้มีอาการรุนแรง
ที่มา...รพ.เปาโล