เปิดความเห็น “โสดก็ผิด! ปั๊มลูกไม่ติดก็โดน! ภาษีเพิ่ม?” |
เปิดความเห็น “โสดก็ผิด! ปั๊มลูกไม่ติดก็โดน! ภาษีเพิ่ม?”
กลายเป็นเรื่องร้อนของสังคมวันนี้ หลังจากนักวิชาการเสนอความเห็นว่ารัฐควรที่จะเก็บภาษีคนโสด! และคนไม่มีลูกเพิ่ม ดังนั้น “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้สัมภาษณ์นานาความเห็นของคนหลากอาชีพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้อ่านกัน
เปิดความเห็น “โสดก็ผิด! ปั๊มลูกไม่ติดก็โดน! ภาษีเพิ่ม?”
จากกรณีที่ วานนี้ (5 ก.ย.) นายเทอดศักดิ์ ชมโต๊ะสุวรรณ เลขานุการคณะเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
เปิดเผยในการอภิปรายหัวข้อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการรองรับในสองทศวรรษหน้าว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โครงสร้างประชากรไม่สมดุล และต้องเสียงบประมาณดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก หลังประชากรในวัยรุ่นวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มต่ำลง สวนทางกลับกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มต่อเนื่อง โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยขณะนี้ต่ำมากเพียง 1.6 ต่อครอบครัว หรือ 1 คู่สมรส มีลูกเพียง 1 คนกว่าเท่านั้น ทั้งที่จริงต้องมีลูกขั้นต่ำ 2-3 คน ถึงจะเพียงพอต่อการทดแทนประชากรเดิมที่ตายไป
โดยนายเทิดศักดิ์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขว่า ภาครัฐควรออกนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลูกคนแรก โดยรัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย การเลี้ยงดูให้กับครอบครัวที่มีลูกคนแรก รวมถึงให้เงินอุดหนุน หรือลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกคน 2 และ 3 นอกจากนี้ควรเรียกเก็บภาษีคนโสด ภาษีคนไม่มีลูก กระตุ้นให้มีครอบครัวเพื่อลดภาระงบประมาณ การใช้สวัสดิการดูแลของภาครัฐในอนาคต
ต่อข้อเสนอแนวทางแก้ไขของนักวิชาการคนดังกล่าว “ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์” ได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นจากบุคคลหลากหลายวงการ ดังนี้
นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข ให้ความคิดเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าวว่า ส่วนตัวได้พูดเรื่องการส่งเสริมให้คนมีครอบครัวและมีบุตรมาโดยตลอด เพราะถ้าสังคมมีแต่คนโสดและไม่มีลูก จะทำให้วงจรการเกิดด้วน ประเทศเราจะไม่มีคนมาสืบทอดในสิ่งต่างๆ ขาดวัยเจริญพันธุ์และเต็มไปด้วยคนสูงอายุ สภาพสังคมตอนนี้คนมีการศึกษาสูง ไม่แต่งงาน แต่ก็มีหลายคู่เลือกอยู่กินร่วมกันโดยไม่แต่งงาน ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการส่งเสริมให้คนมีลูก หรือมีลูกมากกว่าหนึ่งคน แต่ในขณะเดียวกันถ้าจะใช้แนวทางแก้ไขโดยออกเป็นมาตรการเก็บภาษีเพิ่มสำหรับคนโสด หรือคนไม่มีลูก เห็นว่าไม่เหมาะเพราะคนไทยไม่ชอบการบังคับ ซึ่งในทางตรงกันข้ามควรมีมาตรการในการส่งเสริมให้คนเห็นด้วยกับการมีบุตรด้วยความพร้อมจะดีกว่า
เราอย่าไปเน้นปริมาณเลย เราต้องเน้นเรื่องของคุณภาพ เพราะมีปริมาณอย่างเดียวไม่ใช่ว่าจะมาเพิ่มคุณภาพของประเทศได้ มีคนมากก็เป็นภาระได้ ตอนนี้แมร์ทำโครงการรณรงค์ไม่ให้เด็กท้องในวัยเรียน เพราะถ้าท้องในวัยเรียนแล้วดูแลไม่ได้ก็เป็นภาระ ดังนั้นเรามาเน้นสร้างคุณภาพให้กับเด็กดีกว่า เพราะเด็กหนึ่งคนที่มีคุณภาพสามารถมาเป็นผู้บริหารที่ดีของประเทศได้และสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้
กาละแมร์ กล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลคนแก่ เราต้องรณรงค์ให้คนแก่ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยรณรงค์กันตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เมื่อตอนอายุมากขึ้นก็ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งเป็นการใช้เงินลงทุนกันตั้งแต่ต้นทาง ไม่ต้องไปลงทุนเรื่องการรักษากันตอนปลายทางหรืออายุมาก
“ไม่ว่าคนนั้นจะโสด หรือแต่งงานแล้ว ก็สามารถสร้างคุณภาพและสิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้ ส่วนแนวคิดที่ว่าคนโสดต้องเสียภาษีเพิ่ม มองว่าเป็นคนละประเด็นกัน เพราะคนโสดหรือไม่โสดก็สร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศได้”
ส่วนพนักงานออฟฟิศเอกชนแห่งหนึ่งอายุ 30 ปี ที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาท/เดือน ให้สัมภาษณ์ว่า
ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะปกติก็ทำงานไม่มีลูกไม่มีสามีก็เสียภาษีอยู่แล้ว และแนวคิดที่จะมาเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากคนโสดยิ่งแย่ เพราะเราต้องเก็บเงินเพื่อเลี้ยงตัวเอง เราไม่ต้องการรถคันแรก บ้านหลังแรก และไม่ได้ต้องการให้ใครมาเลี้ยง ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้มีทัศนคติที่ไม่ดีกับการแต่งงาน สามารถแต่งงาน หรืออยู่โดยไม่ต้องแต่งงานก็ได้ ซึ่งหลายๆ คนก็อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวโดยไม่ได้แต่งงานไม่ได้จดทะเบียน แต่ก็มีลูกด้วยกัน แล้วจะใช้มาตรฐานหรืออะไรวัดว่าบุคคลนี้โสด หรือไม่โสด เพราะช่องโหว่ของกฎหมายก็มีมาก
ขณะที่พนักงานออฟฟิศเอกชนแห่งหนึ่งอายุ 40 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างแรงกับแนวทางแก้ปัญหาที่นักวิชาการเสนอ เนื่องจากคนโสดก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่ใช้ดูแลตนเองอยู่แล้ว และต้องเก็บเงินไว้ใช้ยามที่อายุมากเพื่อดูแลตนเอง และแนวคิดดังกล่าวจะมาเพิ่มภาระให้กับคนโสดอีกทำไมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม และเอาเปรียบคนที่เป็นโสดอย่างมาก
ส่วนในโซเชียลมีเดียมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างคึกคัก จนทำเป็นภาพการ์ตูนที่มีคำพูดล้อเลียนออกมาให้ได้ขำกัน
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์