สถิติฯว่างงาน |
เป็นภารกิจประจำของสำนักงานสถิติแห่งชาติเสนอรายงานตัวเลขสำคัญให้รับรู้เป็นระยะๆ
ล่าสุด นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการ เผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือนตุลาคม 2556 พบว่าจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 54.55 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมที่จะทำงาน 38.39 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.02 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.37 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.31 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 16.16 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สถิติฯว่างงาน ปริญญาครองแชมป์
ผู้มีงานทำ 38.02 ล้านคน ประกอบด้วยในภาคเกษตรกรรม 12.85 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 25.17 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2555 พบว่าจำนวนผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลง 2.02 ล้านคน แต่นอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 8.3 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นในสาขาการผลิต 7.5 แสนคน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 2.5 แสนคน สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.5 แสนคน และสาขากิจกรรมทางด้านการเงินและการประกันภัย 5.0 หมื่นคน ส่วนสาขาที่ลดลงคือสาขาการก่อสร้าง 2.0 แสนคน สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 9.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมด้านการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ 8.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดซักแห้ง เป็นต้น 6.0 หมื่นคน และสาขาการศึกษา 5.0 หมื่นคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
จำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับหมายถึง ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ และพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำงานแต่ยังมีเวลาและพร้อมที่จะทำงานได้อีก ผลการสำรวจพบว่ามีผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับ 2.78 แสนคน หรือร้อยละ 0.7 ของจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ซึ่งยังมีเวลาว่างที่มากพอและพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น
สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือนตุลาคม 2556 มีทั้งสิ้น 2.37 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.6 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นคน
ภาวะการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.8 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น
ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 8.3 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.3 หมื่นคน (ร้อยละ 0.9) มัธยมศึกษาตอนปลาย 4.4 หมื่นคน (ร้อยละ 0.8) ระดับประถมศึกษา 3.7 หมื่นคน (ร้อยละ 0.4) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.0 หมื่นคน (ร้อยละ 0.2)
การว่างงานในแต่ละภูมิภาค ภาคใต้ มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 0.8 รองลงมาเป็นภาคเหนือร้อยละ 0.7 กรุงเทพมหานครและภาคกลางร้อยละ 0.6 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.4 พิจารณาเป็นรายภาคพบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตราการว่างงานลดลง ภาคกลางและภาคเหนืออัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ ข้าราษฎร โดย สายสะพาย
ที่มา : นสพ.มติชน